การเตรียมข้อมูลสำหรับเช็คเบี้ยประกันภัยรถยนต์
สวัสดีครับ พี่เม่นจาก srikrung168.com นะครับ
คลิปนี้เราจะมาพูดถึง การเตรียมข้อมูลสำหรับเช็คเบี้ยประกันภัยรถยนต์ อาจจะมีคนงงว่าต้องเตรียมข้อมูลอะไรด้วยเหรอ บอกแค่ยี่ห้อ รุ่น ปี แค่นี้ไม่พอเหรอ ทำไมต้องบอกรายละเอียดอะไรเยอะ ๆ ด้วย
คำตอบก็คือ บอกข้อมูลแค่นั้นก็หาราคาให้ได้ครับ แต่อาจจะไม่ใช่ราคาที่คุ้มค่าเสมอไป เพราะถ้ามีข้อมูลแบบกว้าง ๆ เราก็จะหาแพคเกจที่ความคุ้มครองครอบจักรวาล ซึ่งก็จะตามมาด้วยราคาที่แพงขึ้น
หรือหากร้ายแรงไปกว่านั้น เราอาจจะซื้อประกันภัยผิดบริษัท หรือผิดประเภท ซึ่งก็จะมีผลเสียหายตามมา ตอนนี้อาจจะยังไม่เข้าใจ แต่ถ้าฟังรายละเอียดต่อว่าข้อมูลแต่ละอย่างให้ประโยชน์อะไรก็จะทำให้เราเข้าใจมากขึ้นครับ
พี่เม่นขอเรียงลำดับสิ่งที่ควรจะทำในการเช็คเบี้ยประกันภัยรถยนต์ตามลำดับก่อนหลังดังนี้ครับ
1 ข้อมูลที่ควรจะมีลำดับแรกคือ สถานที่บริการงานซ่อมที่เราจะไปใช้บริการในอนาคตไม่ว่าจะเป็นศูนย์บริการหรืออู่ก็ตาม สถานบริการนั้นเค้ามีคอนแทคกับบริษัทประกันภัยอะไรบ้าง
สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้ามไป เพราะถ้าเราไม่เตรียมข้อมูลนี้ไว้ก่อน ในอนาคตอาจจะเกิดปัญหาหาที่ซ่อมไม่ได้ หรือหาที่ซ่อมได้แต่ไม่ได้รับความสะดวก เพราะสถานที่บริการงานซ่อมนั้นไม่มีคอนแทคกับบริษัทประกันภัยที่เราใช้อยู่ และชื่อเสียงหรือมาร์เก็ตแชร์ของบริษัทประกันภัยจะใหญ่แค่ไหน ก็ไม่ได้การันตีว่าจะมีคอนแทคกับทุกศูนย์บริการและทุกอู่ในประเทศไทย
การเลือกสถานที่ซ่อมให้เราเลือกจากในพื้นที่ที่เราใช้รถบ่อยที่สุด
ถ้าเป็นซ่อมห้าง ให้เราเลือกดูว่าเราจะเข้าซ่อมที่ศูนย์ไหน เลือกมาสัก 2 อันดับ แล้วสอบถามจากศูนย์บริการว่าเค้ามีคอนแทคกับบริษัทประกันอะไรบ้าง จากนั้นก็จดรายชื่อบริษัทประกันภัยเอาไว้มาเป็นตัวเลือก
ส่วนคนที่จะซื้อประกันซ่อมอู่ ก็สอบถามจากอู่ที่เรารู้จักและไว้ใจได้เลย แต่ถ้าหากว่าไม่รู้จักอู่ไหน ก็เช็คได้ใน wecanfix.co.th ซึ่งเป็นเว็บไซต์ของบริษัทในเครือศรีกรุง ให้บริการรวบรวมข้อมูลและให้คะแนนมาตรฐานของอู่บริการทั่วประเทศ
โดยให้เราเลือกกรองข้อมูลจากจังหวัด และอำเภอที่เราอยู่ จะมีข้อมูลอู่แสดงขึ้นมา เรียงลำดับคะแนนมาตรฐานที่ทางเว็บไซต์ให้คะแนนไว้จากมากไปน้อย เราสนใจอู่ไหน ก็ให้จดข้อมูลไว้ว่าเค้ามีคอนแทคกับบริษัทประกันไหนบ้าง
และเพื่อให้ข้อมูลนี้รัดกุมมากขึ้น พี่เม่นแนะนำว่าให้โทรไปอัพเดทข้อมูลจากศูนย์บริการหรืออู่ทุกปีก่อนทำประกันภัยไม่ว่าจะเป็นงานใหม่หรืองานต่ออายุก็ตาม เพราะคอนแทคทำกันได้ก็ยกเลิกกันได้เช่นกัน
2 เตรียมเอกสารที่จะใช้ในการเช็คเบี้ย 2 ใบ คือ กรมธรรม์เดิม หรือใบเตือนต่ออายุ อย่างใดอย่างหนึ่ง และรายการจดทะเบียนรถ หรือถ้ามีไม่ครบ 2 ใบ อยากได้เป็นกรมธรรม์เดิมหรือใบเตือนต่ออายุก่อน แต่ถ้าไม่มีจริง ๆ จะขอเป็นรายการจดทะเบียนก็ได้
ข้อมูลในเอกสาร 2 ใบนี้ละครับที่จะช่วยให้เราเลือกประกันภัยได้คุ้มค่ามากขึ้น และป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายจากการซื้อประกันภัยผิดประเภท เรามาเริ่มที่เอกสารฉบับแรกก่อน นั่นก็คือ
กรมธรรม์เดิม หรือใบเตือนต่ออายุ ซึ่งข้อมูลที่จะได้จากเอกสารใบนี้คือ
ชื่อบริษัทประกันวินาศภัยที่เราใช้บริการในกรมธรรม์ฉบับปัจจุบัน สิ่งที่จะได้คำตอบจากชื่อบริษัทประกันก็คือ
บริษัทประกันวินาศภัยภัยนั้นสามารถส่งงานผ่านศรีกรุงโบรคเกอร์ได้หรือไม่ ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทประกันวินาศภัยในประเทศไทยทั้งหมด 62 บริษัท และสามารถส่งงานผ่านศรีกรุงโบรคเกอร์ได้ 36 บริษัทครอบคลุมบริษัทชั้นนำทั้งหมด ถ้าบริษัทนั้นสามารถส่งงานผ่านศรีกรุงโบรคเกอร์ได้ เราจะเช็คเบี้ยทั้งงานโอนโค้ด และงานใหม่
ถ้าสรุปแล้วว่าส่งงานผ่านศรีกรุงโบรคเกอร์ได้ เราก็จะมาเช็คต่อว่าสามารถโอนโค้ดได้หรือไม่ เพราะแต่ละบริษัทมีเงื่อนไขในการโอนโค้ดไม่เหมือนกัน ทั้งโอนไม่ได้เลย โอนได้เฉพาะบางงาน โอนได้ทุกงาน และระยะเวลาในการขอเบี้ยก็แตกต่างกัน ทั้งขอได้ภายในวันนั้น หรืออาจจะใช้เวลาหลายวัน หรืออาจจะให้ราคามาในวันสุดท้ายที่กรมธรรม์นั้นคุ้มครองก็มี เราก็เอาเงื่อนไขเหล่านี้มาพิจารณาต่อว่า จะเช็คเบี้ยทั้งงานโอนโค้ดและงานใหม่ หรือจะเช็คเบี้ยเฉพาะงานใหม่เท่านั้น เงื่อนไขงานโอนโค้ดของแต่ละบริษัทแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มได้แก่ กลุ่มที่ 1 บริษัทที่โอนโค้ดไม่ได้ทุกกรณี ได้แก่ ไทยศรี ทิพย อยุธยา กรุงไทยพาณิช ไทยวิวัฒน์ ไทยเศรษฐกิจ และ AIG กลุ่มที่ 2 บริษัทที่โอนโค้ดได้แค่บางกรณี ได้แก่ คุ้มภัย งานของลิสซิ่งและงานของไฟแนนซ์โอนไม่ได้ ธนชาต ส่งเรื่องเช็คเบี้ยโอนโค้ดได้หลังหมดวันคุ้มครองเดิม กลุ่มที่ 3 บริษัทอื่น ๆ ที่เหลือให้ลองส่งเช็คดูก่อน ขึ้นอยู่กับตัวแทนเดิมว่าอนุญาตหรือไม่ เห็นมั้ยครับ แค่ชื่อบริษัทประกันวินาศภัยอย่างเดียว ยังทำให้งานเราปรับทิศทางไปได้ตั้งหลายอย่าง
ชื่อ-สกุล ผู้เอาประกัน ข้อมูลนี้สำหรับโบรคเกอร์อื่น ๆ ไม่ได้มีผลอะไร แต่สำหรับศรีกรุงโบรคเกอร์ ถ้าเป็นสมาชิกของเราจะมีสิทธิ์ซื้อประกันภัยในราคาสมาชิก โดยใช้สิทธิ์ได้กับรถของตนเอง รถของคนในครอบครัวที่นามสกุลเดียวกัน และรถของคู่สมรส ที่ระบุชื่อไว้ในใบสมัคร เพราะฉะนั้น ชื่อ-สกุล ผู้เอาประกันในกรมธรรม์เดิม ก็เลยมาเป็นปัจจัยที่ทำให้ประหยัดค่าประกันภัยมากขึ้นได้เช่นเดียวกัน ถ้าผู้เอาประกันภัยเป็นสมาชิกอยู่แล้วสามารถใช้สิทธิ์นี้ได้เลย แต่ถ้ายังไม่ได้เป็นสมาชิก ก็จะแนะนำให้สมัครสมาชิกให้ได้รหัสก่อน แล้วค่อยแจ้งงานประกันภัยในรหัสสมาชิกนั้น
กรมธรรม์เดิมหมดความคุ้มครองวันไหน ข้อมูลนี้จะให้ประโยชน์กับเรา 2 อย่าง อย่างแรก เราจะได้รู้ว่าเรามีระยะเวลาเหลืออยู่เท่าไหร่ที่จะต้องตัดสินใจและดำเนินการให้เสร็จทันก่อนกรมธรรม์เดิมหมดความคุ้มครอง อย่างที่ 2 จะได้ใช้เป็นข้อมูลอ้างอิง เวลาให้เจ้าหน้าที่แจ้งงานประกันภัยต่อเนื่องจากความคุ้มครองเดิม โดยเฉพาะงานใหม่
รหัสประเภทการใช้งานรถยนต์ เป็นแบบไหน รถคันเดียวกันสามารถเอามาจดทะเบียนลักษณะการใช้งานที่ต่างกันได้ ระหว่างใช้ส่วนบุคคล ใช้เพื่อการพาณิชย์ ใช้รับจ้างสาธารณะ หรือใช้เพื่อการพาณิชย์พิเศษ การใช้งานแต่ละประเภทมีความเสี่ยงแตกต่างกัน ราคาเบี้ยประกันภัยก็จะแตกต่างกัน รหัสตัวนี้จะช่วยให้เจ้าหน้าที่เสนอราคาในประเภทที่ถูกต้อง
ข้อมูลรายละเอียดรถยนต์ ได้แก่ ยี่ห้อ รุ่น รุ่นย่อย ปีที่จดทะเบียน จำนวนที่นั่ง และขนาดเครื่องยนต์ ชุดนี้เป็นข้อมูลพื้นฐานเลย หากเราต้องการเช็คเบี้ยด้วยตนเองผ่านเว็บไซต์ต่าง ๆ ก็ใช้ข้อมูลนี้เหมือนกัน
ทุนประกันภัยเดิมที่เคยได้ เจ้าหน้าที่จะมีข้อมูลทุนกลางอยู่ว่ารถรุ่นนั้นบริษัทประกันภัยให้ทุนประกันอยู่ที่ราคาเท่าไหร่ สำหรับงานใหม่ถ้าไม่มีข้อมูลทุนเดิม เจ้าหน้าที่ก็จะให้ทุนจากฐานข้อมูลกลาง แต่ถ้ามีทุนเดิมมาอ้างอิง เจ้าหน้าที่ก็จะคิดให้ 90% จากทุนเดิม ส่วนงานโอนโค้ดก็เป็นทุนที่ทางบริษัทประกันภัยให้มาครับ
ในช่องทุนประกันภัยนี้จะมีข้อมูลความเสียหายส่วนแรกภาคสมัครใจหรือ Deductible ด้วย สำหรับแพคเกจมาตรฐานในระบบของศรีกรุงโบรคเกอร์ทั้งหมดจะไม่มีค่า Deductible เพื่อป้องกันไม่ให้สมาชิกที่ยังไม่เข้าใจการใช้งานเผลอซื้อใช้โดยไม่รู้ตัว แต่หากสมาชิกที่เข้าใจการใช้งาน และต้องการใช้ส่วนลดเบี้ยประกันภัยจากค่า Deductible สามารถแจ้งความประสงค์ให้เจ้าหน้าที่ส่งข้อมูลเช็คเบี้ยตรงกับบริษัทประกันภัยให้ได้
ความคุ้มครองในส่วนอื่น ๆ มากน้อยแค่ไหน ทั้งในส่วนความรับผิดต่อบุคคลภายนอก และความคุ้มครองคนขับและผู้โดยสารของรถเรา
ส่วนลดประวัติดี เราได้ถึงกี่ % แล้ว ปกติจะเริ่มต้นที่ 20% และหากรักษาประวัติดีไว้จะลดมากขึ้นปีละ 10% ทีละ 1 ขั้นไปจนลดมากสุดที่ 50% ข้อมูลนี้เอามาเป็นปัจจัยในการพิจารณาได้ว่า ควรอยู่ต่อด้วยการเช็คเบี้ยโอนโค้ด หรือโบกมือลาด้วยการเช็คเบี้ยงานใหม่กันดี
ราคาเบี้ยประกันภัยที่เราใช้อยู่ในปีปัจจุบัน
ตัวแทนหรือนายหน้าเดิม ที่เป็นผู้ขายกรมธรรม์ฉบับปัจจุบัน เพราะมีผลต่อการเช็คเบี้ยโอนโค้ดว่าจะสามารถโอนได้หรือไม่ได้เช่นกัน
รายการจดทะเบียน ข้อมูลสำคัญส่วนใหญ่ในรายการจดทะเบียนจะเหมือนกับในกรมธรรม์เดิม แต่จะมีข้อมูลบางส่วนที่จะมีผลต่อราคาเบี้ยประกันภัย รายการจดทะเบียนจะช่วยยืนยันให้เราเช็คเบี้ยแพคเกจได้ถูกต้อง ข้อมูลนั้นได้แก่
ประเภทการใช้รถยนต์ จดทะเบียนการใช้งานอยู่ในรูปแบบไหน
พลังงานที่ใช้ในการขับเคลื่อน อยู่ในรูปแบบไหน น้ำมัน แก๊ส ไฮบริด หรือไฟฟ้า
นอกจากข้อมูลในกรมธรรม์เดิม และรายการจดทะเบียนแล้ว ข้อมูลเพิ่มเติมที่ต้องการก็คือ
3. รถคันนี้ได้ถูกเปลี่ยนแปลงหรือต่อเติมจากอุปกรณ์มาตรฐานที่ออกจากโรงงานหรือไม่
สำหรับรถใช้งานส่วนบุคคล ถ้ามีอะไรเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติม จะมีความคุ้มครองให้รวมกันแล้วมูลค่าไม่เกิน 20,000 บาท ส่วนที่เกินไปกว่านั้นเราจะต้องรับผิดชอบเอง แต่ถ้าเราต้องการให้ประกันคุ้มครองด้วย เราก็ต้องแจกแจงรายละเอียดส่วนนั้นให้บริษัทพิจาณาเพิ่มเติม โดยใช้ใบเสร็จ และถ่ายภาพอุปกรณ์ส่วนนั้นไปประกอบการพิจารณา
แต่อย่างรถใช้เพื่อการพาณิชย์ เช่น รถกะบะเสริมโครง เสริมตู้ทึบ เสริมตู้เย็น ก็ให้เราถ่ายภาพไปประกอบการเช็คเบี้ยด้วย เพราะการเสริมอุปกรณ์แต่ละอย่างใช้แพคเกจประกันภัยแตกต่างกัน พนักงานจะได้ทำใบเสนอราคามาให้ได้ถูกต้อง
4. ข้อมูลบางอย่างที่ส่งผลต่อราคาเบี้ยประกันภัยบางแพคเกจ ที่ออกแบบมาสำหรับคนเฉพาะกลุ่ม จึงถูกกว่าปกติ ตรงนี้เราจะต้องศึกษาว่ามีแพคเกจอะไร มีเงื่อนไขอะไรบ้าง ถ้าอยากได้ราคากลุ่มนี้ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ว่าให้เสนอราคาแพคเกจเหล่านี้มาด้วย ถ้าเราไม่ได้แจ้งความต้องการเอง เจ้าหน้าที่จะไม่เสนอแพคเกจเหล่านี้มาให้ เพื่อป้องกันความผิดพลาดจากการตัดสินใจซื้อเพราะเห็นราคาถูกกว่า แต่ไม่ได้ศึกษาเงื่อนไขเพิ่มเติม แพคเกจเหล่านั้นเราควรศึกษาเองจากการอบรมของบริษัท อย่างเช่น แพคเกจ GenX ของกรุงเทพประกันภัย ที่รับเฉพาะคนที่มีอายุในช่วงที่กำหนด และแพคเกจ Familyman ของ ทิพยประกันภัย ที่รับเฉพาะคนที่มีบุตร และพร้อมจะระบุชื่อผู้ขับขี่เท่านั้น
ข้อมูลทั้งหมดที่พี่เม่นพูดถึงนี้ แต่ละอย่างก็มีความสำคัญในส่วนของเค้าเอง ที่จะส่งผลต่อความรวดเร็วและความถูกต้องในการทำงาน รวมถึงการกรองข้อมูลแพคเกจที่เหมาะสม และคุ้มค่ากับเงินที่เสียไป เราจึงไม่ควรละเลยข้อมูลเหล่านี้ครับ
และในคลิปถัดไปเราจะมาเรียนรู้การเช็คเบี้ยประกันภัยกันครับ